ชื่อเรื่อง/Title หัตถกรรมพื้นบ้าน : ศึกษาเฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์กระจูด
     บทคัดย่อ/Abstract
การวิจัยเรื่องหัตถกรรมพื้นบ้าน : ศึกษาเฉพาะกรณีผลิตภัณฑ์กระจูดนี้ เป็นการศึกษาขั้นตอนการผลิตกระจูดจนกระทั่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กระจูดประเภทต่างๆ นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบลวดลาย ตลอดจนชนิดของผลิตภัณฑ์ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการหาแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์กระจูดสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆในท้องตลาดได้ และยังสามารถหาแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริมหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่นิยมสืบไป
ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนทะเลน้อยผลิตกระจูดเป็นอาชีพรอง ต่อมาระบบนิเวศน์วิทยาเกิดการเปลี่ยนแปลง ดินเสื่อมคุณภาพเพราะดินเปรี้ยวจึงไม่สามารถทำนา ทำสวนและทำไร่ได้ ด้วยเหตุนี้ชาวทะเลน้อยรุ่นหนุ่มสาวจึงออกทำงานนอกหมู่บ้าน ส่วนสตรีและเด็กจะประกอบอาชีพสารกระจูดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งสามารถทำรายได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง
สำหรับในด้านผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายบริเวณชุมชนทะเลน้อย ได้แก่ เสื่อ หมวก กระเป๋า พัด ซึ่งรูปแบบของการผลิตนั้นได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยเหลือในการออกแบบ กรรมวิธีการผลิตและสีที่ใช้ แต่ชาวชุมชนทะเลน้อยไม่นิยมประกอบการตามที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแนะนำเพราะต้นทุนสูงกว่า ผู้ผลิตขาดความรู้ความชำนาญ ผลงานจึงไม่ปราณีต ตลาดจึงไม่กว้างขวางเท่าที่ควร
ส่วนบริเวณบ้านทอน หมู่ที่ 5 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ประชากรประกอบอาชีพหลัก ได้แก่ ทำสวนมะพร้าว ประมง อาชีพรองได้แก่ สานเสื่อกระจูด เลี้ยงเป็ด ไก่ วัว ทำเรือกอและเป็นที่ระลึก ชาวบ้านทอนมักสานเสื่อเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้ไม่มาก แต่ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดเจ้าหน้าที่มาคอยให้คำแนะนำในด้านวิธีการผลิต ช่วยเสริมแนวคิดและตลอดจนเสนอรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้โครงการศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้จัดอบรมวิทยากรแม่ไก่เพื่อฝึกชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการดังกล่าว เป็นการยกระดับการผลิต จึงทำให้เสื่อกระจูดของบ้านทอนค่อนข้างมีคุณภาพดี สามารถขยายตลาดได้กว้างขวางกว่าเดิมเนื่องจากมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำเสื่อสำหรับใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว กระเป๋าถือ หมวก ทำให้ราษฎรส่วนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาวะปัจจุบันชาวบ้านทอนส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ประกอบอาชีพสานเสื่อ ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่หันไปยึดอาชีพรับจ้างปอกกุ้งซึ่งมีายได้มากกว่าการสานเสื่อ ซึ่งต้องใช้ความปราณีตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์กระจูดมีคุณภาพดี หรือทำผลิตภัณฑ์กระจูดชนิดอื่นๆซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะผลิตงานกระจูดได้ นอกจากนี้การทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดเพื่อขายจะมีมากเฉพาะในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส
สำหรับแนวทางในการแก้ไขอาจทำได้ดังนี้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะให้การสนับสนุนอย่างจริงจังโดยเริ่มตั้งแต่จัดโครงการอบรมการสานเสื่อกระจูดในรูปแบบต่างๆ อย่างมีขั้นตอนและต่อเนื่อง มีการติดตามผลทุกระยะ นอกจากนี้ยังต้องหาตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์ในระยะยาว โดยการประสานงานกับหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐและภาคเอกชน เพื่อหาแหล่งวางขายผลิตภัณฑ์จากกระจูดทั้งในและนอกประเทศ ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการทำนากระจูดในพื้นที่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านให้ได้ต้นกระจูดที่มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อความต้องการของชุมชนเพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้ากระจูดและช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากกระจูดสามารถแข่งขันกับสินค้าชนิดอื่นในอนาคตได้ ปัจจัยเหล่านี้อาจช่วยให้การสานเสื่อกระจูดกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านทั้ง 2 จังหวัดที่สามารถรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นและนำไปสู่การอนุรักษ์ผลิตผลเหล่านี้ให้เป็นที่นิยมสืบไป อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหามิให้คนในท้องถิ่นอพยพไปหางานทำตามเมืองใหญ่ๆซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคตจึงเห็นสมควรให้หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่บ้านตลอดจนขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ช่วยกันสนับสนุนศักยภาพของสตรีในการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ช่วยลดปัญหาประชากรขาดคุณภาพ และปัญหายาเสพติด

     ผู้ทำ/Author
Nameจุรีรัตน์ บัวแก้ว
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
Nameสมบูรณ์ ธนะสุข
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
     เนื้อหา/Content
หน้าปก
บทคัดย่อ
กิตติกรรมประกาศ
คำนำ
สารบัญ
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 สภาพทั่วไปของแหล่งผลิต
บทที่ 3 ความรู้ทั่วไปของกระจูด
บทที่ 4 ลวดลายและผลิตภัณฑ์กระจูด (หน้า 26-37)
บทที่ 4 ลวดลายและผลิตภัณฑ์กระจูด (หน้า 38-47)
บทที่ 4 ลวดลายและผลิตภัณฑ์กระจูด (หน้า 48-55)
บทที่ 5 กระจูดกับทางเลือกในอนาคต
บทที่ 6 บทสรุป
บรรณานุกรม
     กลุ่มหัวเรื่อง: ศิลปะและวัฒนธรรม
--หัตถกรรม
     Contributor:
Name: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Roles: สนับสนุนทุนการวิจัย
     Publisher:
Name:มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Address:ปัตตานี (Pattani)
     Year: 2540
     Type: งานวิจัย/Research Report
     Copyrights :
     Counter : 23962
     Counter Mobile: 39