ชื่อเรื่อง/Title สาร สื่อ สู่สันติ / Message and Media for Peace
     บทคัดย่อ/Abstract
จากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสื่อสารถูกหยิบยกขึ้นมานําเสนอว่าเป็นส่วนสําคัญประการหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เบาบางลงได้และสื่อมวลชนนั้นอยู่ในฐานะที่เป็นแหล่งของการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึก ความคิด ทัศนคติและพฤติกรรม จึงถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทสําคัญในกระบวนการจัดการความขัดแย้ง
การวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติเป็นการศึกษาโดยบูรณาการทั้งสองศาสตร์นี้เข้าด้วยกัน เพื่อนําไปสู่การแสวงหาทิศทางการบริหารจัดการและการดําเนินบทบาทที่เหมาะสมของสื่อประเภทต่าง ๆ อันจะช่วยเอื้อให้เกิดบรรยากาศแห่งการสร้างสังคมสันติสุข โดยมุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) บทบาทของสื่อมวลชน สื่อชุมชนและสื่อใหม่ในการนําเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) แบบแผนการสื่อสารและความต้องการข่าวสารของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การรับรู้ข่าวสารและทัศนคติของผู้รับสารเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบ ผลกระทบของสื่อต่อผู้รับสารในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม และ 3) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โครงการวิจัยนี้ดําเนินการเพื่อนําไปสู่การนําเสนอแนวคิดสาร สื่อ สู่สันติ: รูปแบบการจัดการกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุข โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่และวาระการสื่อสารในบริบทสังคมชายแดนภาคใต้ 2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารกับการรับรู้และผลกระทบของการนําเสนอข่าวสถานการณ์ความไม่สงบ 3) เพื่อศึกษารูปแบบสื่อชุมชนและสื่อมวลชนในฐานะที่เป็นสื่อเพื่อสันติภาพ 4) เพื่อประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นช่องทางการสื่อสารที่ส่งเสริมสังคมสันติสุข และ 5) เพื่อนําเสนอรูปแบบการจัดการกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุขเพื่อดําเนินตามวัตถุประสงค์ข้างต้น
โครงการวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลายดังนี้ 1) การศึกษาเอกสาร ตํารา ผลงานวิจัย บทความทางวิชาการ 2) การวิเคราะห์เนื้อหาข่าวสาร 3) การวิจัยเชิงสํารวจ (Survey Research) 4) การสัมภาษณ์เจาะลึก และการสนทนากลุ่ม 5) การจัดเวทีวิจัย 6) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่าย 7) การพัฒนาฐานข้อมูลและเว็บไซต์และ 8) การจัดสัมมนาทางวิชาการ
สําหรับผลการศึกษาจากโครงการวิจัยนี้จําแนกเป็น 4 ประเด็นคือ 1) พื้นที่และวาระการสื่อสารในบริบทสังคมชายแดนภาคใต้ 2) ข้อมูลข่าวสารกับการรับรู้และผลกระทบของการนำเสนอข่าวสถานการณ์ความไม่สงบ 3) สื่อชุมชนและสื่อมวลชนกับความเป็น “สื่อเพื่อสันติภาพ” และ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อใหม่กับบทบาทเพื่อสันติภาพ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ในประเด็นพื้นที่และวาระการสื่อสารในบริบทสังคมชายแดนภาคใต้การสํารวจพบว่าสื่อที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเปิดรับมากที่สุด คือ สื่อโทรทัศน์ การสื่อสารระหว่างบุคคล และสื่อวิทยุ ตามลำดับ และรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบจากสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นแล้วยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่ การเปิดรับข่าวสารจากผู้นําชุมชน ผู้นําศาสนา และร้านน้ำชา
ในด้านแบบแผนการสื่อสารและเครือข่ายการสื่อสารนั้นพบว่า กลุ่มผู้นําศาสนามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ส่งสารมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับความเชื่อถือสูงในสังคมและต้องสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเสมือนจุดไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และยังเป็นแหล่งตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารต่างๆ รองลงมาคือกลุ่มผู้นําชุมชน ซึ่งมีบทบาทในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเป็นทางการเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเยาวชนและกลุ่มสตรีมีบทบาทเป็นเพียงผู้รับสารเท่านั้น และยังพบว่า ชุมทาง (hub)สําคัญสําหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนใต้ มี 3 แหล่ง คือ ร้านน้ำชา มัสยิด และหอกระจายข่าว
สําหรับประเด็นข้อมูลข่าวสารกับการรับรู้ และผลกระทบของการนําเสนอข่าวสถานการณ์ความไม่สงบนั้น พบว่า สื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติมุ่งนําเสนอเหตุการณ์ในเชิงลบ กล่าวคือเน้นความรุนแรงเป็นกรอบคิดสําคัญในการนําเสนอข่าว นอกจากนั้นยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นและตำแหน่งของข่าวปรากฏในหน้า 1 มากขึ้นด้วย
ส่วนทิศทางการนําเสนอข่าวพบว่า หนังสือพิมพ์กลุ่มตัวอย่างทุกฉบับเน้นหนักการนําเสนอข่าวในรูปแบบของ War Journalism โดยพิจารณาจาก 3 ตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับภาษาคือการใช้ภาษาแสดงอารมณ์ความรู้สึกเกินจริง การใช้ภาษาที่แสดงถึงความเป็นผู้ร้าย และการใช้ภาษาที่แสดงถึงการตกเป็นเหยื่อทําให้รู้สึกน่าเวทนา นอกจากนี้ยังพบว่าสื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้กับแหล่งข่าวที่เป็นผู้นำ ผู้มีอํานาจ และผู้มีชื่อเสียง และใช้เป็นแหล่งข่าวสําคัญในการอ้างอิง
จากการศึกษาผลกระทบจากสื่อในมุมมองของผู้รับสารในพื้นที่พบว่า สื่อมวลชนทําหน้าที่บกพร่องในการนําเสนอข่าวความไม่สงบ โดยการใช้ภาษาและคําที่รุนแรง เกินจริง บิดเบือนความจริง ขาดความสมดุลและเที่ยงธรรม ปราศจากการวิเคราะห์ ขาดความรู้ และความเข้าใจ ถูกครอบงําทางการเมืองหรือธุรกิจ และไร้จรรยาบรรณ ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมหลายประเด็นส่วนในมุมมองเชิงวาทกรรมพบว่า สื่อมวลชนเลือกให้ความสําคัญกับมุมมองของฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการนิยามความหมายหรือสาเหตุของปัญหา รวมไปถึงสถานการณ์โดยทั่วไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในประเด็นสื่อชุมชนและสื่อมวลชนกับความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ จากการวิเคราะห์เนื้อหาข่าวพบว่าการรายงานข่าวที่ให้ความสําคัญกับความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เป็นการให้สิทธิในการนําเสนอแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งมีการรายงานผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งผลกระทบในทางกายภาพที่เห็นได้ชัดเจน และผลกระทบซ่อนเร้นที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงซึ่งเป็นการรายงานข่าวแบบ Peace Journalism มีสัดส่วนที่น้อยกว่า War Journalism
สําหรับบทบาทขององค์การการสื่อสารในพื้นที่นั้นพบว่า ศูนย์ข่าวอิศรา โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรที่อาจใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพได้ เนื่องจากมีนโยบายการดําเนินงานและการเสนอข่าวสารที่มุ่งเน้นสร้างสันติสุขอย่างชัดเจน ส่วนวิทยุชุมชนในพื้นที่นั้นยังไม่สามารถแสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมคลี่คลายความขัดแย้งในสถานการณ์ได้เท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ เช่น กฎหมายและแนวทางในการปฏิรูปสื่อทั้งระบบที่ชัดเจนและเป็นระบบ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการแทรกแซงจากองค์กรภาครัฐและกลุ่มการเมืองในพื้นที่ที่ต้องการใช้วิทยุชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์
ส่วนหน่วยงานด้านการสื่อสารของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กองอํานวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) และสํานักงานประชาสัมพันธ์ทั้งสามจังหวัดนั้นยังไม่สามารถมีบทบาทในการมีส่วนร่วมคลี่คลายปัญหาสถานการณ์ เนื่องจากขาดความไว้วางใจจากภาคประชาชน รวมทั้งการมีรูปแบบการสื่อสารในแนวดิ่งและมีโครงสร้างแบบระบบราชการ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนและองค์กรอิสระอื่น ๆ มีส่วนร่วมในการสื่อสารมีความมุ่งหวังผลการสื่อสารเชิงจิตวิทยาโดยยึดความต้องการของผู้ส่งสารมากกว่าความต้องการและประโยชน์ของผู้รับสาร ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักการของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
สําหรับการวิเคราะห์ความคิดเห็นต่อพระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พบว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวอาจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายไปได้อย่างสันติ เนื่องจากมีความวิตกกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นกับกฎหมายในประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิการสื่อสารทั้งของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพในบริบทของสังคมไทยนั้น จะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวน ออกแบบ และรื้อสร้างใหม่โดยองค์กรสื่อต้องตระหนักถึงเป้าหมายและเจตจำนงที่มุ่งมั่นเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ ซึ่งจําเป็นต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด ตลอดจนแนวทางการนําเสนอ ร่วมกับปฏิรูปข้อกําหนดจริยธรรมทางวิชาชีพ และการผสมผสานรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสในรูปของคณะกรรมการที่เป็นกลางและเน้นการทํางานร่วมกันแบบเครือข่าย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนผู้รับสารเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสาร เพื่อนําไปสู่การเป็นสื่อเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ส่วนประเด็นเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อใหม่กับบทบาทเพื่อสันติภาพนั้น จากการศึกษาการให้บริการอินเทอร์เน็ตตําบลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า องค์การบริหารตําบลส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อม เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร คุณภาพระบบเครือขายต่ำเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ และยังพบว่าเว็บไซต์ของตำบลมีเฉพาะข้อมูลพื้นฐานของตําบลและไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ และประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ต
ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศที่คณะผู้วิจัยได้พัฒนาคือ 1. ฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร?เพื่อสันติสุขของชาติ (http://com-sci.pn.psu.ac.th/itcaforpeace) 2. เว็บไซต์ฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ (http://soreda.oas.psu.ac.th) และ 3. การกําหนดรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในชุมชน 5 รูปแบบ แบบที่ 1 ชุมชนที่ต้องการเพียงรับรู้ข่าวสาร แบบที่ 2 ชุมชนที่ต้องการสืบค้นข่าวสาร แบบที่ 3 ชุมชนที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต?บนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหลัก แบบที่ 4 ชุมชนที่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านเว็บไซต์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในชุมชน และแบบที่ 5 ชุมชนที่ต้องการให้มีการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากข้อมูลและข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยทั้ง 9 โครงการย่อยในการวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาตินำมาสู่การกําหนด 3 กลยุทธ์หลักที่จะนําไปสู่หนทางปฏิบัติของ “การสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 1) กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาพื้นที่การสื่อสารและสื่อ 2) กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาเนื้อหาสาร และ 3) กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของรูปแบบการจัดการกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุข

     ผู้ทำ/Author
Nameอิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameวลักษณ์กมล จ่างกมล
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameจารียา อรรถอนุชิต
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameอรุณีวรรณ บัวเนี่ยว
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameนุวรรณ ทับเที่ยง
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameสากีเราะ แยนา
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameจรุงวิทย์ บุญเพิ่ม
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameศริยา บิลแสละ
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameประสิทธิ์ อับดุลวาฮับ
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
Nameศักดิ์ชัย ปรีชาวีรกุล
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์
Nameวิภัทร ศรุติพรหม
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์
     เนื้อหา/Content
ต้องการข้อมูลฉบับเต็มติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
     กลุ่มหัวเรื่อง: ด้านเศรษฐกิจและสังคม
--การสื่อสารมวลชน
     Contributor:
Name: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Roles: สนับสนุนทุนการวิจัย
     Publisher:
Name:มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Address:ปัตตานี (Pattani)
     Year: 2550
     Type: งานวิจัย/Research Report
     Copyrights :
     Counter : 9573
     Counter Mobile: 113