ชื่อเรื่อง/Title สื่อเพื่อสันติภาพ: จริยธรรม การจัดการ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา / Peace Journalism: Ethics, Management and Suggestions for Development
     บทคัดย่อ/Abstract
ภายใต้แนวคิดสื่อเพื่อสันติภาพ(Peace Journalism) สื่อมิได้มีบทบาทเพียงแค่การรายงานความเป็นไปในสังคมเท่านั้น หากสื่อยังกลไกสําคัญในการจัดการและคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทดังกล่าวไม่อาจขับเคลื่อนไปได้โดยลําพัง หากต้องอาศัยการสนับสนุนจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในการเกื้อหนุนให้สื่อก้าวเข้ามาทําหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์
การวิจัยครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์บทบาทขององค์การการสื่อสาร ทั้งองค์กรสื่อมวลชนและองค์กรสื่อสารระดับท้องถิ่นต่อการมีส่วนร่วมเป็นกลไกการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยทั้งในเชิงปริมาณ คือ การวิเคราะห์เนื้อหา และวิธีการเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่าง และการสังเกตการณ์กิจกรรมขององค์กรสื่อสาร โดยมีกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาดังนี้ องค์กรสื่อมวลชน ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน และกรุงเทพธุรกิจ องค์กรการสื่อสารระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย สถานีวิทยุชุมชนจํานวน 7 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอํานวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) สํานักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังศึกษาวิเคราะห์กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนและสื่อมวลชน ทั้งนี้เป้าหมายสําคัญจากการศึกษาประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว คือ เพื่อนําเสนอการกําหนดรูปแบบและวิเคราะห์ความเป็นไปได้จริยธรรม แนวทางการจัดการ และการปฏิบัติงานของสื่อเพื่อสันติภาพซึ่งเหมาะสมกับบริบทและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลการศึกษาบทบาทขององค์กรสื่อมวลชน โดยการวิเคราะห์เนื้อหาหนังสือพิมพ์กลุ่มตัวอย่างพบว่า บทบาทในการนําเสนอข่าวสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มไปในทิศทางการสร้างความขัดแย้งมากกว่าแสวงหาสันติ ซึ่งความโน้มเอียงดังกล่าวเป็นผลมาจากการยึดติดกับการประเมินคุณค่าความเป็นข่าวตามทฤษฎีวารสารศาสตร์ที่ให้น้ำหนักกับความขัดแย้งเป็นสําคัญ นอกจากนั้น กรอบทางความคิดของผู้ส่งสารยังถูกนําเสนอผ่านการใช้ภาษาที่แสดงอารมณ์เกินจริงทําให้ทิศทางการนําเสนอข่าวมีลักษณะที่เรียกว่า War Journalism ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ประเภทของหนังสือพิมพ์ที่แบ่งเป็นหนังสือพิมพ์เชิงปริมาณและหนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพ มิได้มีนัยสําคัญต่อทิศทางในการนําเสนอที่แตกต่างกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนของการรายงานข่าวเพื่อสันติ (Peace journalism) ยังคงปรากฏไม่มากนัก เนื่องจากรูปแบบการนําเสนอดังกล่าวต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ มาสนับสนุนด้วย แต่อาจถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สื่อเริ่มมีบทบาทในเชิงคลี่คลายความขัดแย้ง แม้ว่าประเด็นในการนําเสนอยังคงเป็นเรื่องของการนําเสนอความจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าการแสวงหาทางออกของปัญหาทั้งนี้ แนวทางการนําเสนอดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการปรับบทบาทของผู้สื่อข่าวที่พึงเป็นผู้เฝ้าระวังที่พร้อมแบกรับภาระทางสังคมด้วยการทําหน้าที่เป็นสื่อกลางรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางเป็นธรรม รอบด้านปราศจากอคติอย่างแท้จริง
สําหรับบทบาทขององค์การการสื่อสารในพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่า ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรที่อาจใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพได้ เนื่องจากมีนโยบายการดําเนินงานและการเสนอข่าวสารที่มุ่งเน้นสร้างสันติสุขอย่างชัดเจน และมีเครือข่ายความร่วมมือและได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน นักวิชาการและองค์กรอิสระต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ขณะที่สถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่นั้น แม้ว่าจะมีปรัชญาและเจตนารมณ์เบื้องต้นเพื่อการเป็นสื่อสร้างสรรค์ภาคประชาชน แต่ผลการศึกษาพบว่าวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถแสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมคลี่คลายความขัดแย้งในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เท่าที่ควร เนื่องจากการที่วิทยุชุมชนจะแสดงบทบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการทั้งกฎหมายและแนวทางในการปฏิรูปสื่อทั้งระบบที่ชัดเจนและเป็นระบบ นอกจากนี้ วิทยุชุมชนในพื้นที่ยังประสบปัญหาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทําให้เกิดความหวาดระแวงในความปลอดภัยหากมีการนําเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังประสบปัญหาการแทรกแซงจากองค์กรภาครัฐและกลุ่มการเมืองในพื้นที่ที่ต้องการใช้วิทยุชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์
ผลการศึกษายังพบอีกว่า หน่วยงานด้านการสื่อสารของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ กอ.สสส.จชต.และสํานักงานประชาสัมพันธ์ทั้งสามจังหวัดนั้นยังไม่สามารถมีบทบาทในการมีส่วนร่วมคลี่คลายปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากประสบปัญหาความไม่ไว้วางใจจากภาคประชาชน รวมทั้งรูปแบบการสื่อสารในแนวดิ่ง และมีโครงสร้างแบบระบบราชการที่เน้นการตั้งรับจากผู้กําหนดนโยบายภาครัฐลงสู่ประชาชน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนและองค์กรอิสระอื่น ๆ เข้ามีส่วนร่วมในการสื่อสารองค์กรการสื่อสารของรัฐเหล่านี้มุ่งหวังผลการสื่อสารเชิงจิตวิทยา โดยยึดความต้องการของผู้ส่งสารมากกว่าความต้องการและประโยชน์ของผู้รับสาร ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักการของการสื่อสารเพื่อสันติภาพที่ให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมในการสื่อสารและระดมข้อมูลจากผู้รับสาร สําหรับการวิเคราะห์ความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนและสื่อมวลชน คือ พระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พบว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวอาจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายไปได้อย่างสันติ เนื่องจากมีความวิตกกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นกับกฎหมายในประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิการสื่อสารทั้งของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของการสื่อสารเพื่อสันติภาพที่จําเป็นจะต้องมีกฎหมายและข้อกําหนดในเชิงบวกเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมทางการสื่อสารของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพในบริบทของสังคมไทยนั้นจะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงทบทวน ออกแบบ และรื้อสร้างใหม่ โดยองค์กรสื่อต้องตระหนักถึงเป้าหมายและเจตจํานงที่มุ่งมั่นเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ ซึ่งจําเป็นต้องเปลี่ยนกรอบแนวคิด ตลอดจนแนวทางการนําเสนอ ร่วมกับปฏิรูปข้อกําหนดจริยธรรมทางวิชาชีพ และการผสมผสานรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใสในรูปของคณะกรรมการที่เป็นกลางและเน้นการทํางานร่วมกันแบบเครือข่ายนอกจากนี้ ยังจําเป็นต้องใช้ปัจจัยเกื้อหนุนอื่นทางสังคม ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาครัฐที่จะต้องให้ความสําคัญกับกฎหมายซึ่งเกื้อหนุนให้เกิดมิติความเท่าเทียมกันในการสื่อสารอย่างแท้จริง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนผู้รับสารเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสาร เพื่อนําไปสู่การเป็นสื่อเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน

     ผู้ทำ/Author
Nameวลักษณ์กมล จ่างกมล
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
     เนื้อหา/Content
ต้องการข้อมูลฉบับเต็มติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
     กลุ่มหัวเรื่อง: ด้านเศรษฐกิจและสังคม
--การสื่อสารมวลชน
     Contributor:
Name: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Roles: สนับสนุนทุนการวิจัย
     Publisher:
Name:มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Address:ปัตตานี (Pattani)
     Year: 2550
     Type: งานวิจัย/Research Report
     Copyrights :
     Counter : 7074
     Counter Mobile: 48