ชื่อเรื่อง/Title แบบแผนการสื่อสาร การเปิดรับสื่อและความต้องการข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / Communication Pattern, Media Exposure and the Need for Information on the Situation in Southernmost Provinces
     บทคัดย่อ/Abstract
จากการสำรวจพฤติกรรมการเปิดรับสื่อและข่าวสารทั่วไปของประชาชนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จำนวน 900 คน พบว่าสื่อที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างเปิดรับมากที่สุด คือ สื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือ การสื่อสารระหว่างบุคคล ทั้งบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน และตามด้วยสื่อวิทยุ ตามลำดับ ในขณะที่สื่อที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการเปิดรับอยู่ในระดับต่ำ คือ หอกระจายข่าว ร้านน้ำชา และผู้นำศาสนาตามลำดับ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงและกำลังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเพศชายระบุว่าได้รับข่าวสารจากร้านน้ำชาและจากผู้นำชุมชนบ่อยครั้งกว่ากลุ่มตัวอย่างเพศหญิง
ในส่วนของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใตนั้น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะรับรู้ข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือสื่อวิทยุ และสื่อหนังสือพิมพ์ตามลำดับ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีช่องทางอื่นๆได้แก่ การเปิดรับข่าวสารจากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และร้านน้ำชา โดยกลุ่มตัวอย่างที่นับถือศาสนาอิสลามมีระดับการเปิดรับสื่อดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่นับถือศาสนาพุทธ
เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับรู้อยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ประเด็นข่าวการฆ่ารายวันและผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับ รองลงมาคือ ประเด็นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเด็นการแก้ปัญหาและพัฒนด้านการศึกษาของเยาวชน
เนื้อหาข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าจะมีส่วนในการสร้างความสันติสุข ได้แก่ ประเด็นที่ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือ ประชาชนควรช่วยสอดส่องดูแลชุมชน/สังคม เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ควรแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐ และการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และทำกิจกรรร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในสังคมจะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม และประเด็นสมาชิกในชุมชนมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและความสันติสุขได้
เนื้อหาข่าวสารที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ ได้แก่ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รองลงมาคือ ทิศทางการพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และการติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ
จากการศึกษาแบบแผนการสื่อสารและเครืองข่ายการสื่อสารของกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ อันประกอบไปด้วย กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา พบว่ากลุ่มผุ้นำศาสนามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ส่งสารมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับความเชื่อถือสูงในสังคมและจะต้องสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเสมือนจุดไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้นำศาสนาจึงเป็นแหล่งตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารต่างๆได้เป็นอย่างดี รองลงมาคือกลุ่มผู้นำชุมชน ซึ่งมักจะมีบทบาทในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเป็นทางการเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเยาวชนและกลุ่มสตรีจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้รับสารเท่านั้น
ชุมทาง (hub) สำคัญสำหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3 แหล่ง คือ ร้านน้ำชา มัสยิด และหอกระจายข่าวตามลำดับ ร้านน้ำชา มักใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทั้งประเด็นทั่วไปในการดำเนินชีวิตประจำวันและประเด็นเกี่ยวกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวสารที่ได้รับรู้รับฟังกันมาจากแหล่งข่าวต่างๆ ทั้งสือมวลชน สื่อบุคคล และสื่อเฉพาะกิจ(ใบปลิว)
มัสยิดเป็นชุมทางที่มีลักษณะเป็นทางการ เวลาที่เหมาะสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในมัสยิดคือวันศุกร์ เพราะเป็นวันที่ผู้ชายจะใช้เวลานานในการปฎิบัติศาสนกิจและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนา
หอกระจายข่าวเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในแง่ของการกระจายข่าวสารไปยังทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยมากจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการนัดหมายต่างๆและข่าวสารของรัฐ แต่มีข้อด้วยในการเข้าไปมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากคนทุกกลุ่มในสังคม
ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เชื่อมั่นในข่าวสารที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนมีสาเหตุสำคัญ คือ ภาพสะท้องของเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดที่นำเสนอผ่านสื่อโดยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการสร้างภาพข่าวให้มีความรุนแรงเกินจริง จนส่งผลให้เกิดการสร้างภาพแบบฉบับตายตัว ว่าคนมุสลิมทุกคนเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าน น่ากลัว และหัวรุนแรงเป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว เนื้อหาสารที่ปรากฎในสื่อมักมีเนื้อหายั่วยุไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน ข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือกลุ่มเยาวชนและสตรีต้องการมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งสารผ่านทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก โดยต้องการนำเสนอวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งดีงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยังต้องการเรียนรุ้ให้กลุ่ม องค์กรหรือหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอาชนที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เข้าใจในวิถีมุสลิมและแสดงพฤติกรรมที่ให้เกียรติและเคารพในสิทธิของชาวมุสลิมให้มากขึ้น

     ผู้ทำ/Author
Nameจารียา อรรถอนุชิต
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
Nameอรุณีวรรณ บัวเนี่ยว
Organization มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
     เนื้อหา/Content
ต้องการข้อมูลฉบับเต็มติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
     กลุ่มหัวเรื่อง: ด้านเศรษฐกิจและสังคม
--การสื่อสารมวลชน
     Contributor:
Name: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Roles: สนับสนุนทุนการวิจัย
     Publisher:
Name:มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Address:ปัตตานี (Pattani)
     Year: 2550
     Type: งานวิจัย/Research Report
     Copyrights :
     Counter : 4412
     Counter Mobile: 35