ชื่อเรื่อง/Title รายงานผลการวิจัย โครงการวิจัยและวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษา จังหวัดปัตตานี
     บทคัดย่อ/Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอันเป็นเหตุให้คุณภาพการศึกษาต่ำ และเพื่อสร้างระบบข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนการศึกษาและจัดบริการการศึกษาของจังหวัด โดยมีเครื่องมือที่ใช้ คือแบบสำรวจที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จัดทำขึ้น 3 ฉบับ คือ แบบสำรวจประชากร นักเรียน สภาพโรงเรียน และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าร้อยละ สัดส่วน ค่าเฉลี่ย ค่าดัชนี ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์ความแปรผัน และค่าสหสัมพันธ์
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. สภาพทั่วไป จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัด ตั้งอยู่ริมทะเลฝั่งตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,051 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2,109 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา ทำสวนและทำไร่ มีแม่น้ำสายใหญ่ๆ 2 สายไหลผ่าน คือแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี มีภูเขาสำคัญ คือ ภูเขาทรายขาว อยู่ในอำเภอโคกโพธิ์ สภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่วๆไป ค่อนข้างชื้น ฝนตกชุก มีลมมรสุมพัดผ่านทำให้อากาศอบอุ่นตลอดปี แบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูร้อน ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ดิน สัตว์น้ำ ป่าไม้ชายเลน เกลือและแร่ธาตุต่างๆ ประชาชนจึงประกอบอาชีพเพาะปลูก ทำการประมงเป็นส่วนมาก จังหวัดปัตตานีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 3 กิ่ง 109 ตำบล และ 564 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 456,384 คน เป็นชายร้อยละ 50.02 หญิงร้อยละ 49.98 เฉลี่ยประชากร 219.70 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร มีประชากรวัยเรียนร้อยละ 16.80 นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 81.94 ศาสนาพุทธ 18.05 ภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไปเป็นภาษามลายูท้องถิ่น ในทางราชการใช้ภาษาไทยกลาง
2. สภาพการศึกษา จัดบริการการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 366 โรง ระดับมัธยมศึกษา 63 โรง อาชีวศึกษา 3 โรง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง
3. สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม มีการคมนาคมไปได้ทั่วถึงทุกอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน มีแหล่งน้ำและชลประทานยังไม่ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรร้อยละ 74.01 ประมง ร้อยละ 9.05 ฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ ส่วนสภาพทางสังคม ประชากรเป็นไทยมุสลิมส่วนมาก ใช้ภาษามลายู ร้อยละ 84.48
4. สภาพโรงเรียน มีโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทุกหมู่บ้าน ประชากรวัยเรียนเกือบทุกคนได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง สภาพของโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี นอกจากนี้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการของครูในท้องถิ่นกันดาร เกี่ยวกับสิ่งสาธารณูปโภค ยังขาดส้วมและที่ปัสสาวะมากทุกสังกัดโรงเรียน บริการต่างๆ ยังจัดได้น้อยมาก โดยเฉพาะอาหารกลางวัน บริการสุขภาพอนามัยและบริการแนะแนว พื้นที่ของโรงเรียนส่วนมากใช้ประโยชน์เพื่อการสอนถึงร้อยละ 85.55 เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างแคบ มีโอกาสขยายได้ยาก มีอาคารเรียนที่ต้องปรับปรุงทั้งจังหวัด 57 หลัง คือร้อยละ 6.63 อาคารประกอบยังขาดอยู่อีกมาก ส่วนด้านครุภัณฑ์ ยังขาดเครื่องโรเนียว เครื่องพิมพ์ดีด
5. สภาพเกี่ยวกับครูและนักเรียน จำนวนครูทั้งหมด 3,816 คน ชายร้อยละ 47.33 หญิงร้อยละ 52.67 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 76.48 อิสลามร้อยละ 24.49 มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 11.19 วุฒิอนุปริญญา ร้อยละ 58.25 วุฒิ ป.กศ. ร้อยละ 26.71 ครูที่ไม่มีวุฒิทางครู ร้อยละ 3.85 สภาพของนักเรียน อยู่ใกล้โรงเรียนเป็นส่วนมาก ร้อยละ 89.32 อัตราการเลื่อนชั้นของนักเรียนต่ำมาก อัตราการมาเรียนของนักเรียนเฉลี่ยร้อยละ 81.30 ด้านความสามารถพื้นฐานด้านภาษาไทยและเลขคณิตนั้น นักเรียนมีความสามารถแตกต่างกันมาก
6. ประชากรและการคาดคะเน พบว่าประชากรมีแนวโน้มลดลงทุกอำเภอ มักเพิ่มขึ้นในเขตเมือง แต่ก็เพิ่มเป็นจำนวนน้อย
7. การวิเคราะห์และสังเคราะห์ดัชนีทางการศึกษา โดยวิเคราะห์เป็น 4 ด้าน คือด้านโอกาสทางการศึกษา สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ทรัพยากรทางการศึกษาและคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งสรุปได้ไม่แน่ชัดว่า ค่าดัชนีสังเคราะห์ทั้ง 4 ด้าน มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน เพราะการหาค่าดัชนีของความสามารถพื้นฐาน พบว่าทุกค่าของแต่ละคู่ ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
จากผลการวิจัยและสัมมนาในระดับจังหวัด พบว่ามีปัญหาสำคัญๆ 4 ด้าน คือ ปัญหาด้านทรัพยากรทางการศึกษา ด้านโอกาสและคุณภาพทางการศึกษา ด้านบุคลากร และด้านโรงเรียนขนาดเล็กและการจัดบริการ

     ผู้ทำ/Author
Nameสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
     เนื้อหา/Content
หน้าปก
บทคัดย่อ
สารบัญ
บทที่ 1 บทนำ
บทที่ 2 วิธีดำเนินการ
บทที่ 3 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 4 สรุปผลการวิจัย อภิปราย และข้อเสนอแนะ
บรรณานุกรม
     กลุ่มหัวเรื่อง: ด้านการศึกษา
--นโยบายทางการศึกษา
     Publisher:
Name:มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
Address:สงขลา (Songkhla)
     Year: 2526
     Type: งานวิจัย/Research Report
     Copyrights :
     Counter : 3428
     Counter Mobile: 37